ข่าวตลาดทุน

Title : BBGI ตั้งเป้า Net Zero ปี 2050 ผ่านกลไกลงทุนธุรกิจใหม่

2023-07-13 By. Admin [View 544]

บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ปักธง ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน โดยนำแนวคิด ESG เป็นแนวทางพัฒนาองค์กร ตั้งเป้า Net Zero ในปี 2050 เล็งใช้กลไกอื่นเข้ามาสนับสนุน เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียว และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

​นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ และผู้สร้างสรรค์ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า BBGI วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) พร้อมดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น การจัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร

​โดย BBGI ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งขณะนี้การบริหารธุรกิจได้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 
การปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ ในกระบวนการผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ 15% ในปี 2569 และ 30% ในปี 2573 ในขณะที่อีก 70% ต้องมีกลไกอื่นที่จะมาช่วยสนับสนุน 
เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียว และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
​ที่ผ่านมา BBGI ได้ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ 11 องค์กร ก่อตั้งเครือข่าย Carbon Market Club 
เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองสิทธิเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อมุ่งสู่สังคม Net Zero Emission หรือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และที่สำคัญ BBGI ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยมีเป้าหมายแรก คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030

​อย่างไรก็ตาม BBGI ได้ดำเนินการในหลายโครงการ เช่น ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน, โครงการติดตั้งบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน, โครงการเพื่อการจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษ เช่น โครงการแปรรูปขี้เถ้าไม้สับทำอิฐตัวหนอน นำไปใช้ปูพื้นและจัดสวนภายในพื้นที่โรงงานและแจกจ่ายแก่ชุมชนรอบข้างที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ในชุมชน รวมถึงโครงการสารปรับปรุงดิน ซึ่งจะนำน้ำสารปรับปรุงดินที่เหลือจากกระบวนการผลิต ส่งต่อให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้าอ้อย และหญ้าเนเปียเพื่อเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มความชื้นแก่หน้าดินเพื่อเตรียมพร้อมรับการเพาะปลูก และเป็นการเพิ่มปริมาณสารอาหารอินทรีย์ในดิน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

TAGS :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง