บทความ-สัมภาษณ์

Title : โกลเบล็ก จับเทรนลงทุนหุ้นโค้งสุดท้ายปี 2566

2023-11-21 By. Admin [View 1690]

บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/2566 ไปจนถึงไตรมาส 1/2567 แกว่งตัวในลักษณะ Sideway Up จากตัวเลขเศรษฐกิจที่แผ่วลงของสหรัฐ หนุนคาดการณ์ FED ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงให้กรอบสัปดาห์นี้ที่ 1,400-1,450 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้น 3 กลุ่มเด่น “หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bond Yield ปรับตัวลง-หุ้นรับนโยบาย Digital Wallet- e-Refund-หุ้นที่มี ESG สูง และอยู่ใน SET50”



นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยหุ้นในช่วงไตรมาส 4/2566 ไปจนถึงไตรมาส 1/2567 ว่า ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในลักษณะ Sideway Up โดยมีแรงหนุนจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดการณ์กรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,400-1,450 จุด  
ขณะที่ทิศทางดัชนีในปี 2567 ทาง บล.โกลเบล็ก ให้กรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,373-1,569 จุด โดยอ้างอิง EPS ปี 67 จาก Bloomberg Consensus ที่ 98 บาท ภายใต้สมมติฐานการเติบโต GDP ปี 2567 ที่ 4.40% และอิง PE Ratio 14-16 เท่า

อีกทั้งการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แผ่วลงของสหรัฐส่งผลให้คาดการณ์ว่า FED จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาทิ จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI, PPI) ปรับขึ้นต่ำกว่าคาดการณ์ และคาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะจบแล้วหลังเงินเฟ้อชะลอตัว ล่าสุด แบบจำลอง GDPNow แสดงให้เห็นว่า GDP ของสหรัฐขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 4/2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ใน ไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ขณะที่ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 49.8% ที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. 2567 จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 32.1% เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. 2567

นอกจากนี้ทางโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 อาจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ภาคการผลิตจะฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะหมดไป และรายได้ที่แท้จริงเติบโตแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับ Consensus ได้ประมาณการ GDP ปี 67 เติบโตประมาณ 3-4% ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ส่วนที่อาจเติบโตดีกว่าคาดการณ์มีตัวแปรจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2567 เบื้องต้นเพิ่มขึ้น 1.99% โดยต้องรอตัวเลขการส่งออกทั้งปีของปี 2566 ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้จะยังขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องทำให้คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะติดลบราวไม่เกิน 1% น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลกับตลาดหุ้นไทย อาทิ เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงชะลอตัวจากผลกระทบของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งของอิสราเอล-กลุ่มฮามาส รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธาราณะต่อ GDP มีแนวโน้มสูงขึ้นจากแผนกู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิตัลวอลเล็ต ณ ปลายกันยายน 2566 ประเทศไทยมียอดหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับ 62% เทียบกับเพดานหนี้อยู่ที่ 70% และภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ การประชุม กนง. ครั้งที่ 6/2566 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 29 พ.ย.นี้ ต่อด้วย ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และปัจจัยต่างประเทศ อาทิ เช้าวันที่ 22 พ.ย. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. วันที่ 24 พ.ย. ประชุม OPEC+ วันที่ 12-13 ธ.ค. กำหนดการประชุม FED ครั้งสุดท้ายของปี 2566 ทั้งนี้กำหนดการประชุม FED ในปี 2567 รวม 8 ครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 67 -1 ก.พ., 21-22 มี.ค., 2-3 พ.ค, 13-14 มิ.ย., 25-26 ก.ค., 19-20 ส.ค., 31 ต.ค.-1 พ.ย. และ 12-13 ธ.ค.



ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 3 กลุ่มเด่น อาทิ 1. หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bond Yield ปรับตัวลงเนื่องจากคาดว่า FED ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่  TIDLOR, SAWAD และ MTC

2. หุ้นที่ได้ประโชย์จากนโยบาย Digital Wallet และ e-Refund ได้แก่ BJC, CPALL, CPAXT, CRC, CPN, COM7, SPVI, CPW, JMART, HMPRO, DOHOME, GLOBAL, ZEN, M, AU, TNP และ KK
3. หุ้นที่ได้รับการประเมินว่ามี ESG สูง และอยู่ใน SET50 ได้แก่ ADVANC, CPALL, CPF, CRC, OR, PTTEP และ TOP

TAGS :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง